condomoneyback

จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมภาคครัวเรือนพบว่า หนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนไทย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 สูงถึง 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อน COVID-19 ในปี 2019 อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตสูงถึง 78% ถือเป็นการกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งของหนี้นอกระบบ หลังจากที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2019

“ หนี้นอกระบบ ” ปัญหาทางการเงินที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน เพราะกู้ง่าย ไม่ตรวจเครดิตบูโร แต่ต้องแลกมาด้วยดอกเบี้ยสูงลิบ และการทวงหนี้แบบสุดโหด สุดท้ายแล้วหลายคนตกอยู่ในวังวนนี้ หาทางออกไม่เจอ กลายเป็นภาระอันหนักอึ้งจากดอกเบี้ยแสนแพง ยิ่งถ้าเป็นแบบดอกลอย ยิ่งทวีคูณความโหดขึ้นไปอีก เพราะจ่ายแต่ดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆทุกวัน ไม่เคยตัดเงินต้น จนกว่าจะมีเงินมาจ่ายเงินต้นทั้งหมด จากเงินกู้เพียงไม่กี่พันอาจกลายเป็นหลักหมื่นหรือหลักแสนบาท สุดท้ายไม่สามารถหลุดออกจากวงจรหนี้นอกระบบนี้ได้

ส่วนดอกเบี้ยหนี้นอกระบบที่บอกเราว่าจ่ายน้อย ๆ แบบรายวัน แต่หากเราคิดคำนวณออกมาเป็นรายปีแล้ว มักเจอความจริงที่อาจทำให้คุณช็อคจนเป็นลมได้ เพราะว่ามันสูงจนน่าสะพรึงกลัว มาดูตัวอย่างกันค่ะว่า ดอกเบี้ยหนี้นอกระบบ ถ้าคิดเป็นรายปี ดอกเบี้ยจะสูงแค่ไหน

สมมติคุณกู้เงิน 500,000 บาท จ่ายคืนวันละ 8,500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จริงๆแล้วคิดดอกเบี้ยคุณเท่าไหร่ สามารถคำนวณคร่าวๆ ได้ตามขั้นตอน ดังนี้

  1. ขั้นแรก คำนวณหาจำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืนทั้งหมดก่อน
  2. เมื่อได้จำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืนทั้งหมดแล้ว ให้นำไปลบจำนวนเงินที่กู้มา เพื่อหาจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมด
  3. นำดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมด มาคำนวณหาอัตราดอกเบี้ยจ่าย ตามระยะเวลาที่กู้เงิน (3 เดือน)
  4. ขั้นสุดท้ายให้นำไปหาอัตราดอกเบี้ยจ่ายต่อปี เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกับสินเชื่ออื่น ๆ ได้

จะเห็นได้ว่าเงินกู้ตามตัวอย่างข้างต้น ที่เราคิดว่าเราจ่ายคืนเป็นรายวันไม่มากนั้น แท้ที่จริงแล้วเราต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 212% ต่อปี เลยทีเดียว  ส่วนใครที่ติดกับดักหนี้นอกระบบไปแล้ว  เรามี 3 วิธีแนะนำเพื่อปลดหนี้นอกระบบกันค่ะ

3 วิธี เพื่อปลดหนี้นอกระบบ

1. ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

เริ่มจากการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง เช่น ค่าเสื้อผ้า ค่าเครื่องประดับ ค่ากาแฟ ค่าเหล้า ค่าบุหรี่ ค่าหวย และหารายได้เพิ่มเติม จากความถนัดหรืองานอดิเรกของตัวเอง เช่น ทำอาหาร ทำขนม วาดรูป ออกแบบ งานฝีมือ หรือลองรวบรวมทรัพย์สินที่มีอยู่ ว่ามีอะไรที่ยังพอขายออกไปได้บ้าง เพื่อนำเงินไปใช้หนี้

2. ใช้แหล่งเงินกู้ในระบบแทน

แหล่งกู้เงินในระบบ คือ อีกทางเลือกที่สามารถช่วยให้ปลดหนี้นอกระบบได้ โดยการปิดหนี้นอกระบบจากสินเชื่อในระบบที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า ถูกต้องตามกฎหมายและมีหน่วยงานกำกับดูแลชัดเจน ได้แก่

โคงการสินเชื่อจากธนาคารต่างๆ

หากคุณมีประวัติทางการเงินที่ดี มีอาชีพมีรายได้ รายได้มากกว่ารายจ่าย เครดิตสกอร์ผ่านเกณฑ์ เราขอแนะนำให้คุณติดต่อกับทางธนาคาร เพราะมีหลายโครงการที่พร้อมให้บริการ ได้แก่

  • ธนาคารออมสิน  โครงการธนาคารประชาชน เพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) 1% ต่อเดือน (12%ต่อปี)
  • ธ.ก.ส. โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรและบุคคลในครัวเรือน วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน (12%ต่อปี)

3. หาตัวแทนหรือหน่วยงานกลางช่วยไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้

สามารถขอคำปรึกษาและร้องเรียนปัญหาหนี้นอกระบบได้ที่หน่วยงานราชการ ประกอบด้วย

  • สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด สายด่วน 1157
  • ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง โทร 1359
  • ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ กระทรวงมหาดไทย โทร 1567
  • ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โทร 0 2575 3344

ข้อมูลอ้างอิง