ประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตของประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่ ที่ดินไม่มีวันเพิ่มขึ้น แต่ราคาที่ดินสูงขึ้นตลอดเพราะทุกคนต้องหาเลี้ยงชีพ ต้องพักผ่อน ต้องมีที่พักพิงอาศัยนั่นเอง ซึ่งที่อยู่อาศัยนั้นเป็นปัจจัยพื้นฐานของทุกสิ่งมีชีวิต ถึงตรงนี้อสังหาริมทรัพย์ยังเป็นตัวเลือกที่หลายคนเริ่มหันมาให้ความสนใจ ในภาวะที่เศรษฐกิจผันผวน ตลาดหุ้นยังขึ้น ๆ ลง ๆ และทองก็ราคาพุ่งขึ้นจนอาจเอื้อมไม่ถึงแบบนี้ บิทคอยน์ราคาสูงเกินกว่าจะลงไปซื้อ ในท่ามกลางของภัยร้ายไวรัสโควิด-19 นั้น ก็ยังมีโอกาสดีๆ สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน อย่ามองแต่ในแง่ร้ายเพราะยังมีแง่ดีให้เห็น อย่างไรก็ตามการเลือกอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้อย่างเด็ดขาด ลักษณะของอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นสินทรัพย์ที่ Inertia คือราคามีการเปลี่ยนแปลงหรือขึ้นลงค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสำนักที่ต่างออกมาประเมินว่า ภาวะโควิด-19 ที่เป็นวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยเมื่อช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานั้น ไม่ได้มีผลกระทบกับมูลค่าของทรัพย์สินระยะยาวประเภทนี้เท่าไรนัก เพราะราคาสินทรัพย์กับทิศทางเศรษฐกิจไม่ไปด้วยกัน เครื่องมือที่เราสามารถใช้ลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของตลาดได้ คือ การกระจายเงินลงทุน (Diversification) จึงขอย้ำคำแนะนำให้ผู้ลงทุนจัดพอร์ตแบบกระจายเงินลงทุนในหลายสินทรัพย์หรือเป็นการกระจายความเสี่ยงเพื่อป้องกันมูลค่าเงินเก็บในมือของเราที่กำลังถูกบั่นทอนให้ด้อยมูลค่าลงเรื่อยๆ จากเงินเฟ้อ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ช่วยได้ในจุดนี้
แต่ก่อนจะไปรู้จักและเจาะลึกกับการลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์ มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า คำว่าอสังหาริมทรัพย์คืออะไร ครอบคลุมอะไรบ้าง แล้วอสังหาริมทรัพย์ ความหมายเหมือน หรือแตกต่างจากสังหาริมทรัพย์อย่างไร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุว่า อสังหาริมทรัพย์คือหนึ่งในประเภทของทรัพย์ ซึ่งหมายถึง ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน มีลักษณะเป็นการถาวร หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย หรือสรุปแบบสั้นๆ ให้เข้าใจง่ายได้ว่า อสังหาริมทรัพย์คือ (Real Estate) สิ่งที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ หรือต้องอยู่ติดกับที่ (Immovable) อย่างเช่น อาคารบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ไปจนถึงที่ดิน และทรัพยากรตามธรรมชาติที่อยู่กับที่ดินนั้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นดิน แม่น้ำ หรือเกาะแก่ง ซึ่งความหมายจะตรงกันข้ามกับสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหมายถึง สิ่งที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ (Movable) เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับตกแต่งภายในบ้าน รถยนต์ เป็นต้น และเนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ล้วนเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง ทำให้การดำเนินการซื้อขายแต่ละครั้งจะต้องมีการทำหนังสือสัญญา หรือทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในรูปแบบของโฉนด ทะเบียน หรือเอกสารที่แสดงสิทธิต่าง ๆ เพื่อให้มีการแสดงข้อมูลที่ชัดเจน ทั้งในฝั่งของผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนั่นเอง นอกจากการซื้อขายทั่วไปแล้ว ที่นิยมทำกันคือ จำนอง / ขายฝาก ที่ให้ประโยชน์ทั้งผู้ซื้อฝาก / ขายฝาก